แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ One Belt One Road คืออะไร แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ One Belt One Road คืออะไร แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

One Belt One Road คืออะไร

จีนกำลังสร้างความร่วมมือรอบด้านผ่านยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ One Belt One Road ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันดีในนาม The Belt and Road Initiative (BRI) แต่ความร่วมมือดังกล่าวคงไม่อาจประสบความสำเร็จหากปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเชื่อมั่นในศักยภาพของโครงการที่จะนำผลประโยชน์มาสู่ทั้ง 2 ฝ่ายหรือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

TP10-3315-3A
“นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ประกาศโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีความสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของไทย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ในด้านการเชื่อมโยงภูมิภาค (connectivity) ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ ทุกๆปีเราจะมีการจัดงานสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน เพื่อใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนและนำเสนอผลงานวิจัย ตลอดจนบทความทางวิชาการทั้งจากนักวิจัยฝ่ายไทยและจีน เป้าหมายเพื่อนำผลการศึกษาวิจัยเหล่านั้นมาประมวลเป็นยุทธศาสตร์ไทย-จีนเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งจะนำไปเป็นนโยบายระดับประเทศในที่สุด” พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในงานสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 6 ที่ปีนี้จัดขึ้น ณ เมืองเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ระหว่างวันที่ 7-11 พ.ย.ที่ผ่านมา โดย เป็นความร่วมมือระหว่างวช. และสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ร่วมกับฝ่ายจีนคือมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและสถาบัน China Society for Southeast Asian Studies
หัวข้อการสัมมนาปีนี้ เป็นเรื่อง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และ “ประเทศไทย 4.0”: สู่ความมั่นคง-มั่งคั่งร่วม” นักวิจัยจากประเทศไทย 18 ท่านนำผลงานการวิจัยไปร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนทรรศนะกับนักวิจัยฝ่ายจีนที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เมืองเซียะเหมิน ประเด็นสำคัญที่ได้รับจากการสัมมนาคือ โอกาสและศักยภาพแห่งความร่วมมือที่จะเกิดจากการเชื่อมโยงนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีอยู่ ซึ่งเป็นศักยภาพแห่งความร่วมมือในหลากมิติ

TP10-3315-1A
++แนะร่วมสร้างนวัตกรรม
นางสาวอรสา รัตนาอมรภิรมย์ นักวิจัยจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์จีน-อาเซียนศึกษา เจ้าของงานวิจัยในหัวข้อ “เทคโนโลยีสำคัญในนโยบายประเทศไทย 4.0 และ ยุทธศาสตร์การจับคู่หุ้นส่วนความร่วมมือกับทรัพยากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่จัดทำร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.ทัง จือหมิ่น ให้ความเห็นว่า จากการทำงานวิจัยเจาะลึกทั้งในส่วนของยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน และ “ประเทศไทย 4.0” พบว่า มีจุดร่วมและความเหมือนที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ในหลายมิติ เช่น ทั้งสองยุทธศาสตร์ต่างมีจุดร่วมในการพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับตัวเองให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง และมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของการพัฒนาภายใต้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักภายใต้นโยบาย “Made in China 2025” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศของจีน ยังพบว่า ทั้งจีนและไทยมีวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันเกือบจะทั้งหมด
“มีหลายอุตสาหกรรมของไทยและจีนที่น่าจะเชื่อมโยงกันได้เพื่อประโยชน์ของทั้ง 2ฝ่าย เช่น หุ่นยนต์ อากาศยาน ยานยนต์สมัยใหม่ การเกษตรสมัยใหม่ เทคโนโลยีชีวภาพ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาโดรน (อากาศยานไร้คนขับ) ซึ่งจีนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ในส่วนของจีนนั้นเรามองว่า จีนมีทรัพยากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พร้อม อีกทั้งยังมีเงินทุนสนับสนุน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ขั้นในการพัฒนาประเทศนั้น (ดังภาพประกอบ) จีนเน้นให้ความสำคัญการสร้างนวัตกรรม ทุ่มงบด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) จุดนี้ไทยน่าจะสามารถเร่งสร้างจุดเชื่อมโยงเพื่อสร้างความร่วมมือ”

ทั้งนี้ สถานะความร่วมมือไม่ใช่ว่าไทยจะเป็นเพียงฝ่ายรับแต่เพียงอย่างเดียว เพราะไทยเองมีความเข้มแข็งในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการออกแบบ ไทยจึงสามารถเป็นฝ่าย “ให้” เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทของจีนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น หนิงเซี่ย กานซู และชิงไห่ ยังคงมีความต้องการอุตสาหกรรมการเกษตรและการแปรรูปสินค้าเกษตร รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญสูง

อีกจุดเชื่อมโยงที่น่าจะไปได้ดีคือการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ขณะที่จีนเก่งทางด้านฮาร์ดแวร์ (และมีเทคโนโลยีเสริมหนุนการท่องเที่ยวอยู่มาก เช่น ระบบชำระเงินออนไลน์ แอพพลิเคชันเพื่อการทำการตลาดการท่องเที่ยว เป็นต้น) จึงน่าจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวร่วมกัน

TP10-3315-2A
++ลงทุนร่วมกันไม่หวั่นแข่งขัน
ส่วนของความเป็นไปได้ที่จะมีการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ต่างฝ่ายต่างต้องการส่งเสริมเช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อาจารย์อรสา มองว่า จีนมีตลาดใหญ่ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็มองตลาดส่งออกด้วย ดังนั้นจึงควรชักชวนจีนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออก “รัฐบาลจีนส่งเสริมการออกมาลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว ไทยควรใช้โอกาสนี้ดึงจีนเข้ามาลงทุน เพราะจีนเองมองไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียน เอกชนจีนอย่างบริษัท บีวายดีฯ (BYD) ก็มีแผนลงทุนผลิตแบตเตอรี่รถอีวีในไทย บริษัท ซินซงฯ (Siasun) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ก็สนใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตและกำลังมองหาพันธมิตรในไทยอยู่ เราควรเร่งสร้างความร่วมมือ

อยากจะให้มอง ว่า จีนเองต้องการจับมือทำโครงการที่ประสบความสำเร็จเพื่อให้เป็นโครงการตัวอย่างในหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ถ้าเขามีโครงการที่จับมือกับไทยแล้วประสบผลสำเร็จ นั่นก็จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับความร่วมมืออื่นๆ ที่จะมีตามมา”

ฉบับหน้าพบกับศักยภาพความร่วมมือไทย-จีนในด้านการ เกษตรและอื่นๆ รวมทั้งช่องทางเข้าถึงผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่าที่ผู้ประกอบการไทยและผู้ที่สนใจเกี่ยว กับความสัมพันธ์ไทย-จีนสามารถนำไปใช้ประโยชน์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560