วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

One Belt One Road คืออะไร

จีนกำลังสร้างความร่วมมือรอบด้านผ่านยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ One Belt One Road ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันดีในนาม The Belt and Road Initiative (BRI) แต่ความร่วมมือดังกล่าวคงไม่อาจประสบความสำเร็จหากปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเชื่อมั่นในศักยภาพของโครงการที่จะนำผลประโยชน์มาสู่ทั้ง 2 ฝ่ายหรือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

TP10-3315-3A
“นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ประกาศโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีความสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของไทย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ในด้านการเชื่อมโยงภูมิภาค (connectivity) ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ ทุกๆปีเราจะมีการจัดงานสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน เพื่อใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนและนำเสนอผลงานวิจัย ตลอดจนบทความทางวิชาการทั้งจากนักวิจัยฝ่ายไทยและจีน เป้าหมายเพื่อนำผลการศึกษาวิจัยเหล่านั้นมาประมวลเป็นยุทธศาสตร์ไทย-จีนเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งจะนำไปเป็นนโยบายระดับประเทศในที่สุด” พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในงานสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 6 ที่ปีนี้จัดขึ้น ณ เมืองเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ระหว่างวันที่ 7-11 พ.ย.ที่ผ่านมา โดย เป็นความร่วมมือระหว่างวช. และสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ร่วมกับฝ่ายจีนคือมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและสถาบัน China Society for Southeast Asian Studies
หัวข้อการสัมมนาปีนี้ เป็นเรื่อง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และ “ประเทศไทย 4.0”: สู่ความมั่นคง-มั่งคั่งร่วม” นักวิจัยจากประเทศไทย 18 ท่านนำผลงานการวิจัยไปร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนทรรศนะกับนักวิจัยฝ่ายจีนที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เมืองเซียะเหมิน ประเด็นสำคัญที่ได้รับจากการสัมมนาคือ โอกาสและศักยภาพแห่งความร่วมมือที่จะเกิดจากการเชื่อมโยงนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีอยู่ ซึ่งเป็นศักยภาพแห่งความร่วมมือในหลากมิติ

TP10-3315-1A
++แนะร่วมสร้างนวัตกรรม
นางสาวอรสา รัตนาอมรภิรมย์ นักวิจัยจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์จีน-อาเซียนศึกษา เจ้าของงานวิจัยในหัวข้อ “เทคโนโลยีสำคัญในนโยบายประเทศไทย 4.0 และ ยุทธศาสตร์การจับคู่หุ้นส่วนความร่วมมือกับทรัพยากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่จัดทำร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.ทัง จือหมิ่น ให้ความเห็นว่า จากการทำงานวิจัยเจาะลึกทั้งในส่วนของยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน และ “ประเทศไทย 4.0” พบว่า มีจุดร่วมและความเหมือนที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ในหลายมิติ เช่น ทั้งสองยุทธศาสตร์ต่างมีจุดร่วมในการพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับตัวเองให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง และมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของการพัฒนาภายใต้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักภายใต้นโยบาย “Made in China 2025” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศของจีน ยังพบว่า ทั้งจีนและไทยมีวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันเกือบจะทั้งหมด
“มีหลายอุตสาหกรรมของไทยและจีนที่น่าจะเชื่อมโยงกันได้เพื่อประโยชน์ของทั้ง 2ฝ่าย เช่น หุ่นยนต์ อากาศยาน ยานยนต์สมัยใหม่ การเกษตรสมัยใหม่ เทคโนโลยีชีวภาพ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาโดรน (อากาศยานไร้คนขับ) ซึ่งจีนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ในส่วนของจีนนั้นเรามองว่า จีนมีทรัพยากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พร้อม อีกทั้งยังมีเงินทุนสนับสนุน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ขั้นในการพัฒนาประเทศนั้น (ดังภาพประกอบ) จีนเน้นให้ความสำคัญการสร้างนวัตกรรม ทุ่มงบด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) จุดนี้ไทยน่าจะสามารถเร่งสร้างจุดเชื่อมโยงเพื่อสร้างความร่วมมือ”

ทั้งนี้ สถานะความร่วมมือไม่ใช่ว่าไทยจะเป็นเพียงฝ่ายรับแต่เพียงอย่างเดียว เพราะไทยเองมีความเข้มแข็งในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการออกแบบ ไทยจึงสามารถเป็นฝ่าย “ให้” เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทของจีนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น หนิงเซี่ย กานซู และชิงไห่ ยังคงมีความต้องการอุตสาหกรรมการเกษตรและการแปรรูปสินค้าเกษตร รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญสูง

อีกจุดเชื่อมโยงที่น่าจะไปได้ดีคือการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ขณะที่จีนเก่งทางด้านฮาร์ดแวร์ (และมีเทคโนโลยีเสริมหนุนการท่องเที่ยวอยู่มาก เช่น ระบบชำระเงินออนไลน์ แอพพลิเคชันเพื่อการทำการตลาดการท่องเที่ยว เป็นต้น) จึงน่าจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวร่วมกัน

TP10-3315-2A
++ลงทุนร่วมกันไม่หวั่นแข่งขัน
ส่วนของความเป็นไปได้ที่จะมีการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ต่างฝ่ายต่างต้องการส่งเสริมเช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อาจารย์อรสา มองว่า จีนมีตลาดใหญ่ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็มองตลาดส่งออกด้วย ดังนั้นจึงควรชักชวนจีนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออก “รัฐบาลจีนส่งเสริมการออกมาลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว ไทยควรใช้โอกาสนี้ดึงจีนเข้ามาลงทุน เพราะจีนเองมองไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียน เอกชนจีนอย่างบริษัท บีวายดีฯ (BYD) ก็มีแผนลงทุนผลิตแบตเตอรี่รถอีวีในไทย บริษัท ซินซงฯ (Siasun) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ก็สนใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตและกำลังมองหาพันธมิตรในไทยอยู่ เราควรเร่งสร้างความร่วมมือ

อยากจะให้มอง ว่า จีนเองต้องการจับมือทำโครงการที่ประสบความสำเร็จเพื่อให้เป็นโครงการตัวอย่างในหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ถ้าเขามีโครงการที่จับมือกับไทยแล้วประสบผลสำเร็จ นั่นก็จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับความร่วมมืออื่นๆ ที่จะมีตามมา”

ฉบับหน้าพบกับศักยภาพความร่วมมือไทย-จีนในด้านการ เกษตรและอื่นๆ รวมทั้งช่องทางเข้าถึงผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่าที่ผู้ประกอบการไทยและผู้ที่สนใจเกี่ยว กับความสัมพันธ์ไทย-จีนสามารถนำไปใช้ประโยชน์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น