ยังมีสัญญาณชีพสำหรับข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ทีพีพี ที่ 11 ชาติสมาชิกที่เหลืออยู่ พยายามผลักดันให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ก็ยอมรับต้องใช้เวลาอีกนับเดือนขจัดอุปสรรคที่มีอยู่
“เรายังคงเจรจากันต่อไป สำหรับแคนาดาการมีข้อตกลงที่ดีนั้นสำคัญกว่าการมีข้อตกลงที่ได้มาเร็ว เรากำลังร่วมกันกำหนดเงื่อนไขข้อตกลงการค้าสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่จะใช้ไปอีกหลายทศวรรษข้างหน้า” นายฟรังซัวส์-ฟิลิปเป้ แชมเปญ รัฐมนตรีการค้าแคนาดากล่าว
หลังสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงทีพีพีเมื่อต้นปีนี้ ประเทศสมาชิกที่เหลืออยู่มีความพยายามที่จะผลักดันให้ข้อตกลงดังกล่าวสามารถเดินหน้าต่อไปแม้ไม่มีสหรัฐฯ แต่เพื่อให้ฟันเฟืองของข้อตกลงขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้ จึงต้องมีการเจรจาหารือลดทอนบางส่วนของข้อตกลง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ผู้แทนการเจรจาของแคนาดาระบุว่า แคนาดาต้องการข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนมีรายได้ระดับปานกลาง และช่วยให้วิสาหกิจทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถออกไปแข่งขันและได้ประโยชน์จากเวทีการค้าระดับโลกแคนาดาเองยังไม่พร้อมที่จะทำความตกลงในระดับผู้นำ เพราะยังมีข้อที่เป็นกังวลในหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ สินค้าเกษตร หรือแม้แต่ด้านศิลปวัฒนธรรม และทรัพย์สินทางปัญญา
ด้านนายโทชิมิตสึ โมเทกิ รัฐมนตรีเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่เป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาทีพีพีมาหลายครั้งก่อนหน้านี้ เปิดเผยว่า ข้อตกลงใหม่หลังยุคสหรัฐฯถอนตัว มี 7 ส่วน บางเนื้อหาก็คงไว้ซึ่งข้อตกลงฉบับเดิม แต่มีการยกเว้นไว้ชั่วคราว 20 มาตรา ซึ่งในจำนวนนี้ 11 มาตราเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หาก 6 ใน 11 ประเทศสมาชิกตกลงเห็นชอบ ข้อตกลงทีพีพีก็จะสามารถมีผลบังคับใช้ใน 60 วัน แม้ว่าทั้งหมดนี้ยังเป็นเรื่องของอนาคต แต่อีกชาติสมาชิกสำคัญอย่างเม็กซิโก ก็ให้การสนับสนุนและมองว่า กรอบการทำงานของทีพีพี 11 ประเทศก้าวมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560