แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ แจ็คหม่า คบใครเป็นเพื่อน คนนั้นรวยแน่ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ แจ็คหม่า คบใครเป็นเพื่อน คนนั้นรวยแน่ แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

แจ็คหม่า คบใครเป็นเพื่อน คนนั้นรวยแน่

2 ทศวรรษที่ผ่านมา นายแจ็ค หม่า ผู้ให้กำเนิดอาณาจักรธุรกิจ “อาลีบาบา” ไม่เพียงสร้างความรํ่ารวยให้ตัวเองจนมีมูลค่าสินทรัพย์ในวันนี้ถึง 47,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.57 ล้านล้านบาท แต่เขายังผลักดันให้อาลีบาบากลายเป็นบริษัทอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก และสร้างความมั่งคั่งให้กับมหาเศรษฐีอีกอย่างน้อย 10 รายที่ได้รับอานิสงส์จากอาลีบาบา หรือคิดเป็นมูลค่าธุรกิจรวมเกือบๆ 100 ล้านดอลลาร์

ทั้งแจ็ค หม่าและบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด มีการลงทุนโดยตรงหรือจับมือร่วมเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทอื่นๆที่ให้บริการเกี่ยวเนื่องกับแพลตฟอร์มการขายสินค้าออนไลน์ของอาลีบาบา ไม่ว่าจะเป็นบริการรับชำระเงินหรือบริการส่งพัสดุและอื่นๆ ผู้ให้บริการที่เกี่ยวเนื่องเหล่านี้สามารถทำเงินได้รวมกันมากกว่า 52,000 ล้านดอลลาร์ (จากสถิติของ Bloomberg Billionaires Index) ซึ่งถ้าหากบวกรวมกับสินทรัพย์ของหม่าที่ถือครองอยู่ ก็จะเป็นมูลค่ารวมที่สูงกว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของ 136 ประเทศบนโลกใบนี้ แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จและความสามารถของผู้บริหารอย่างแจ็ค หม่า

TP10-3314-1A
ไม่เพียงเท่านั้น ลักษณะพิเศษของการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันของอาลีบาบาและธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องเหล่านี้ยังเป็นกลไกขับเคลื่อนที่ทำให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเจริญเติบโตและสร้างความมั่งคั่งไปด้วยกัน “แจ็คเป็นคนวิสัยทัศน์ยาวไกล เครือข่ายบริษัทเหล่านี้ต่างทำให้อาลีบาบาที่ตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางเติบโตยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่แจ็ค หม่า มองเห็นและวางแผนมาตั้งนานแล้ว” ดันแคน คลาร์ค ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับอาณาจักรอาลีบาบาให้ความเห็น ทั้งนี้เขามองว่า อาลีบาบาทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และขณะเดียวกันธุรกิจเหล่านี้ก็ยิ่งส่งเสริมให้อาลีบาบาทำเงินได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ธุรกิจประกัน ธุรกิจส่งสินค้าและพัสดุ รวมถึงธุรกิจค้าปลีก

การจัดทำเนียบมหาเศรษฐีโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กพบว่า ปีนี้มีนักธุรกิจอย่างน้อย 2 คนที่ทำธุรกิจฟินเทคเกี่ยวเนื่องกับอาลีบาบาแล้วสามารถไต่อันดับความรํ่ารวยขึ้นมาอยู่ในทำเนียบ หนึ่งในนั้นคือนายอู้ หยาเฟย ผู้บริหารบริษัท จงอัน ออนไลน์ พีแอนด์ซี อินชัวรันซ์ฯ ซึ่งให้บริการรับประกันการส่งคืนสินค้าหากลูกค้าเลือกซื้อสินค้าจากเว็บไซต์เถาเป่า (Taobao.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ในเครืออาลีบาบา จงอัน ออนไลน์ มีบริษัทแอนท์ ไฟแนนเชียลฯ ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินออนไลน์ในเครืออาลีบาบา เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และนำหุ้นจำหน่ายในตลาดฮ่องกงอย่างประสบความสำเร็จเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา อีกตัวอย่างคือ นายมิน ลั้วะ ผู้บริหารบริษัท จูเตี่ยนฯ ให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ บริษัทนำหุ้นไปขายในตลาดสหรัฐฯเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา


และหากจะพิจารณาธุรกิจด้านการขนส่งสินค้า ก็มีเศรษฐีเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอาลีบาบาอย่างน้อย 6 รายที่อยู่ในทำเนียบ Bloomberg Billionaires Index หนึ่งในนั้นก็คือ นายหวัง เว่ย ผู้ก่อตั้งบริษัท เอสเอฟ เอ็กซ์เพรสฯ ผู้ให้บริการส่งพัสดุรายใหญ่ที่สุดของประเทศจีน (ในแง่รายได้) นายเว่ยทำรายได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 15,400 ล้านดอลลาร์ในปีนี้หลังจากเขานำหุ้นบริษัท เอสเอฟ โฮลดิ้งส์ฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์เสินเจิ้น เอสเอฟเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการด้านขนส่งพัสดุสินค้าหลายรายที่ขนส่งสินค้าให้กับอาลีบาบา มีการก่อตั้งเครือข่ายขนส่งสินค้าของกลุ่มขึ้นมาภายใต้ชื่อบริษัท ไช่เหนี่ยว สมาร์ท โลจิสติกส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด โดยมีอาลีบาบาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของอาลีบาบานั้นเป็นระบบเปิดที่เชื่อมโยงหลายภาคส่วนของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เข้าไว้ด้วยกัน
นายโจเซฟ ไซ รองประธานและผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบา คือเศรษฐีผู้รํ่ารวยเป็นอันดับ 2 ในทำเนียบดังกล่าวที่สร้างความมั่งคั่งมาจากอาลีบาบาเช่นกัน เขามีมูลค่าสินทรัพย์ในครอบครอง 11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เป็นมูลค่าหุ้นในตลาด) สินทรัพย์ของไซครอบคลุมถึงหุ้นสโมสรกีฬาในสหรัฐอเมริกา

เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า แอนท์ ไฟแนนเชียล ผู้ให้บริการชำระเงินด้วยระบบออนไลน์ในเครืออาลีบาบา สร้างมหาเศรษฐีระดับพันล้านในทำเนียบ Bloomberg Billionaires Index จำนวนมากกว่า 12 คน รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ที่แจ็ค หม่า ก่อตั้งบริษัทอาลีบาบาที่เมืองหังโจวใน ค.ศ. 1999 เขาได้สร้าง “ห้างหุ้นส่วนอาลีบาบา” ขึ้นมา โดยสมาชิกผู้เป็นหุ้นส่วนถือครองหุ้น 350 ล้านหุ้น ปัจจุบันหุ้นดังกล่าวมีมูลค่า 65,200 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2.15 ล้านล้านบาท เป็นหุ้นของหม่าและไซมูลค่าราว 38,900 ล้านดอลลาร์ แนวโน้มยังคงสดใสสำหรับทั้งกลุ่มเนื่องจากการเจริญเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่ขยายตัวไปทั่วโลก จีนเองเป็นตลาดอี-คอมเมิร์ซขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯอเมริกา ในปีที่ผ่านมา (2559) ชาวจีนซื้อสินค้าออนไลน์โดยเฉลี่ย 11,404 หยวน (1,718 ดอลลาร์)/คน/ปี แต่คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะขยายตัวอีก 17% ภายในพ.ศ.2562 และมูลค่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์ทั่วโลกโดยรวมคาดว่าจะโตขึ้น 2 เท่าสู่ระดับ 1.7 ล้านล้านดอล ลาร์ภายในพ.ศ. 2563 (โดยคาดการณ์ ของโกลด์แมน ซากส์ กรุ๊ป)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560