แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ แบงก์มองศก.ปี59ฟื้นตัว กางแผนตั้งรับโอกาส/เข้าสู่ยุค New Normal แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ แบงก์มองศก.ปี59ฟื้นตัว กางแผนตั้งรับโอกาส/เข้าสู่ยุค New Normal แสดงบทความทั้งหมด
วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
แบงก์มองศก.ปี59ฟื้นตัว กางแผนตั้งรับโอกาส/เข้าสู่ยุค New Normal
นายแบงก์มองโจทย์เศรษฐกิจปี 59 เข้าสู่ยุค New Normal ลงทุนภาครัฐความหวังดันเอกชนฟื้นความเชื่อมั่น แห่ขยายการลงทุนตาม ยันระบบการเงินพร้อมตั้งรับโอกาสธุรกิจขยับ แบบ New Strategy หนุนสินเชื่อโตตามลูกค้า-เจาะเซ็กเตอร์ดาวเด่น ลั่นหมุนล้อตามแรงขับเคลื่อนภาคใหญ่ ย้ำจับตาภัยแล้งความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง อาจกดดันรายได้ภาคเกษตรกรกระทบเศรษฐกิจจริง
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โจทย์เศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนของภาครัฐ ทั้งในเรื่องของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ โครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้ารางคู่-รถไฟฟ้าความเร็วสูง และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรวมเม็ดเงินกว่า 1.77 ล้านล้านบาท หากโครงการเหล่านี้สามารถผลักดันออกมาได้จะเกิดการหมุนของระบบเศรษฐกิจ จะส่งผลต่อไปยังความเชื่อมั่นภาคเอกชน จะหนุนเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นอีกครั้ง
ดังนั้น ภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวล้อไปตามเศรษฐกิจ เพราะโดยปกติอัตราการเติบโตของสินเชื่อจะขยายตัว1.5 เท่าของจีดีพี โดยกรอบ จีดีพีที่มองว่าจะเติบโตที่ 3% กรอบอยู่ที่ 2.5-3.5% ทำให้สินเชื่อธนาคารกสิกรไทยจะเติบโต 6-7% ซึ่งธนาคารจะพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่จะเกิดขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงในปี 2559 ธนาคารยังให้ความเป็นห่วงในเรื่องภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบวงกว้างต่อเกษตรกร ซึ่งจะขยายไปสู่ภาคบริโภคและระบบเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกยังคงผันผวนอยู่ แต่ปัจจัยที่หลายฝ่ายรู้อยู่แล้ว ส่วนภัยทางด้านก่อการร้ายอาจจะต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด แม้จะยังไม่มีผลกระทบต่อไทย แต่หากสถานการณ์ลุกลามอาจมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนได้ สำหรับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะยังคงเห็นการขยับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังไม่นิ่ง โดยเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นยังเป็นกลุ่มธุรกิจรายย่อยและเอสเอ็มอี
สอดรับกับนายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าเมื่อภาครัฐได้วางยุทธศาสตร์ทางด้านการลงทุนอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่วางแผนชัดเจนในเรื่องของอุตสาหกรรมดาวรุ่ง 10 อุตสาหกรรม ซึ่งธนาคารมีความพร้อมเข้าไปให้การสนับสนุนครบวงจรไม่เพียงแต่การให้สินเชื่ออย่างเดียว
“ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีการเปลี่ยนแปลง 2 อย่าง คือ การเปลี่ยนแปลงแบบ Long Term Ship กับ Shot Term Ship โดยการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นจะเห็นความผันผวนของเศรษฐกิจจากผลกระทบต่างประเทศ ส่วนระยะยาวเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นรัฐบาลพยายามส่งเสริมการลงทุนทุกรูปแบบ ดังนั้นปีหน้าจะเป็นปีของการเริ่มลงทุน ส่วนจะลงทุนมากน้อยแค่ไหนอยู่กับการลงมือและการสร้างความมั่นใจ แบงก์เองก็มีหน้าที่ซัพพอร์ตลูกค้า”
เช่นเดียวกันนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หากดูแนวโน้มประเทศไทยเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นทั้งทางด้านการเมือง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบายต่างๆ การช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของความเชื่อมั่น ดังนั้น ในวงการธนาคารจะเริ่มดีขึ้น เพราะแนวโน้มเอ็นพีแอลของระบบจะไม่ได้พุ่งขึ้นสูงเหมือนในปีที่ผ่านมา
ส่วนธุรกิจที่จะสามารถขยายตัวได้ในปี 2559 ธนาคารยังมองว่าสินเชื่อรายย่อยยังคงมีความต้องการสินเชื่อต่อเนื่อง ซึ่งอัตราการเติบโตปีหน้าจะขึ้นอยู่กับธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อหรือยังคงคุมเข้ม โดยในส่วนของธนาคารกรุงไทยไม่ได้มีการเพิ่มความเข้มงวดเกินความจำเป็น
“แนวโน้มปีหน้าเรื่องแย่ๆ น่าจะจบลง ความเชื่อมั่นดีขึ้น และความต้องการสินเชื่อรายย่อยยังมีอยู่ คนยังอยากมีบ้าน ส่วนเอ็นพีแอลก็น่าจะสงบลงเมื่อเทียบกับปีนี้ ทำให้วงการแบงก์น่าจะดีขึ้น ส่วนความเสี่ยงเศรษฐกิจยังคงเป็นเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดีมากนัก จีนยังไม่รู้ว่าจะเป็นฮาร์ดแลนดิ้ง หรือซอฟต์แลนดิ้ง สหรัฐฯ น่าจะฟื้นตัวได้ ส่วนยุโรปน่าจะขยับได้ และความเสี่ยงทางด้านสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงมีอยู่ ทำให้คนที่ทำอุตสาหกรรมต้นน้ำจะเหนื่อย และความสามารถในการแข่งขันยังเป็นประเด็นอยู่”
ขณะเดียวกันดร.สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559 จะเผชิญกับคำว่า New Normal ดังนั้น การทำธุรกิจของภาคสถาบันการเงิน โดยเฉพาะของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จะต้องเป็น New Strategy เพราะทิศทางเศรษฐกิจหากมองในเชิงบวกการฟื้นตัวจะดีขึ้น แต่หากมองในเชิงลบเศรษฐกิจไทยจะฟื้นแบบอืด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเป็นตัวนำในด้านการลงทุนในโครงการต่างๆ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทิศทางธุรกิจของธนาคารต้องเดินคู่ขนานกับทิศทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ดี ในแง่สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ อาจจะต้องระมัดระวังตัวมากเป็นพิเศษ เพราะจะเห็นเอ็นพีแอลในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และรายย่อยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของธนาคารในปีหน้า โดยเซ็กเตอร์ที่ต้องระวังจะเป็นกลุ่มเกษตรและอสังหาริมทรัพย์ เพราะยังได้รับแรงกดดันจากภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังตกต่ำ ทำให้มีรายได้ที่ลดลง
สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนมองว่ายังคงสูงต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังคงเหนื่อยในปีหน้า ซึ่งธนาคารจะต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะจะใช้แผนกลยุทธ์เดิมอาจจะไม่เหมาะสมกับภาวะตลาด ดังนั้น สินเชื่ออาจจะไม่จำเป็นต้องขยายตัวมากนัก แต่จะต้องหันไปสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยสินเชื่อควรโตประมาณ 10-15% จากเดิมที่ขยายตัว 20-25% ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 25%
“ปีหน้าเราเข้าสู่คำว่านิวนอร์มอล กลยุทธ์แบงก์ก็ต้องเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลง โดยหลักๆ จะเห็นธนาคารเข้มข้นระมัดระวัง ส่วนเอ็นพีแอลจะเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจจะซึมยาวหรือฟื้นตัว แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,108 วันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
คลิกอ่านต้นฉบับhttp://www.thansettakij.com/2015/11/27/19441
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)