แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

17.09.2015 นี้ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่

เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตนเป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลากว่า 9 ปี ระหว่างการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ช่วงกลางสัปดาห์นี้ และเรื่องนี้กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งเพิ่มความวิตกกังวล เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก
     
       ด้วยการที่ตลาดการเงินยังคงปั่นป่วนผันผวนสืบเนื่องจากภาวะขาลงของเศรษฐกิจจีน และมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อความไม่แน่นอนใดๆ ก็ตามที่จะเพิ่มเติมเข้ามา ดังนั้นจึงมีเสียงเรียกร้องจากนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยให้เฟดระงับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของตนเอาไว้ก่อน ทว่าก็มีเสียงตอบโต้จากอีกหลายๆ ฝ่ายรวมทั้งจากพวกเจ้าหน้าที่ของชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ด้วย ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯควรจะเดินหน้าได้เสียทีในสิ่งที่เฝ้ารอคอยกันอย่างกระวนกระวายมานานแล้วนี้
     
       การอภิปรายถกเถียงกันอย่างดุเดือดของผู้คนที่อยู่นอกวงเหล่านี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายอันยุ่งยากซับซ้อนซึ่งพวกผู้มีสิทธิออกเสียงในเอฟโอเอ็มซีต้องเผชิญ ในระหว่างที่พวกเขาพบปะประชุมกัน 2 วันในวันพุธ (16 ก.ย.) และวันพฤหัสบดี (17) นี้
     
       ประเด็นที่จะต้องตัดสินกันในคราวนี้ก็คือ ควรหรือไม่ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ย “เฟเดอรัล ฟันดส์ เรต” ให้เพิ่มขึ้นจากระดับเกือบๆ 0% หลังถูกปล่อยเอาไว้เช่นนี้มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่คราวเกิดวิกฤตการเงินโลก หรือที่ในเมืองไทยนิยมเรียกกันว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” เมื่อปี 2008
     
       จากการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจำนวนหนึ่ง เฟดเองนั้นมีความกระวนกระวายต้องการออกมาจากระดับดอกเบี้ยซึ่งต่ำเตี้ยอย่างผิดธรรมดาเช่นนี้เสียที ในเมื่อเศรษฐกิจอเมริกันมีอัตราการเติบโตซึ่งเข้มแข็งเพียงพอที่จะแบกรับการขยับเพิ่มขึ้นมาสัก 0.25% ได้แล้ว
     
       ทว่า ความปั่นป่วนผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ยังไม่ได้ผ่อนเพลาลงจนเป็นที่น่าไว้วางใจ รวมทั้งยังจะต้องเรียนรู้กันอีกมากว่าปัญหาต่างๆ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจีนนั้นจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อส่วนอื่นๆ ของโลกถึงขนาดไหน
     
       การขยับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำท่าว่าจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลและบริษัทจำนวนมากขยับสูงขึ้นไปด้วย ถึงแม้พวกนักวิเคราะห์ชี้ว่าอันที่จริงการคาดการณ์กะเก็งของตลาดก็ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นไปอยู่แล้ว
     
       ทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งกังวลใจเกี่ยวกับการเติบโตของโลกที่กำลังชะลอตัว จึงต่างแสดงท่าทีว่าเฟดน่าจะอยู่เฉยๆ ไปอีกสักพักหนึ่งก่อน

ทั่วโลกกระวนกระวายขณะที่ “เฟด” ชั่งใจในสัปดาห์นี้ว่าจะขึ้น “ดอกเบี้ย” หรือไม่
เจเนต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องเผชิญความยากลำบากแน่นอนในการหาฉันทามติจากที่ประชุมเอฟโอเอ็มซีกลางสัปดาห์นี้ ในประเด็นที่ว่าควรจะขึ้นดอกเบี้ยหรือยัง

        แต่อีกหลายๆ ฝ่ายบอกว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องยุติการใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินอย่างสุดๆ
     
       “เวลานี้เรากำลังใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ถึงเวลาที่เราจะต้องหวนกลับคืนสู่ภาวะปกติได้แล้ว” นี่เป็นความเห็นของ โรเบิร์ต มอร์แกน แห่งสมาคมนายธนาคารอเมริกัน
     
       การขึ้นดอกเบี้ยที่ถูกคาดหมายมานานแล้ว
     
       เป็นเวลานานหลายเดือนมาแล้วที่คณะกรรมการเอฟโอเอ็มซี ภายใต้ เจเนต เยลเลน ประธานของเฟด เล็งแลที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยกันในการประชุมนัดวันที่ 16-17 กันยายนนี้
     
       ความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะเป็นการส่งสัญญาณว่า เฟดพร้อมแล้วที่จะทำให้นโยบายการเงิน “กลับคืนสู่ภาวะปกติ” โดยที่จะค่อยๆ ขยับขึ้นดอกเบี้ยไปอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 2 ปีต่อจากนี้ไป
     
       ปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สุดซึ่งพวกสมาชิกเอฟโอเอ็มซีนำมาใช้กำหนดการตัดสินใจของพวกตน ก็คือ ภาวะตลาดการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ โดยที่ตลาดการจ้างงานขณะนี้ถือได้ว่าแข็งแรงแล้ว ในเมื่ออัตราการว่างงานกำลังลดต่ำลงมาจนเหลือ 5.1% ต่ำที่สุดนับจากเดือนเมษายน 2008
     
       แต่สำหรับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเฟดต้องการให้ขยับสูงขึ้นมาจนอยู่ในระดับประมาณ 2.0% อันจะเป็นสัญญาณแสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคงนั้น กลับยังคงอยู่ในภาวะลงต่ำกว่าเป้าหมาย
     
       ถึงแม้เหตุผลหลักของเรื่องนี้อยู่ที่ราคาของน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ตกฮวบลงมาอย่างหนัก มากกว่ามาจากความอ่อนแอของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทว่าเรื่องที่น่ากังวลไม่ใช่น้อยก็คือ การชะลอตัวของจีนและของพวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ตลอดจนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ยังน่าจะดึงให้ระดับราคาซึ่งก็คืออัตราเงินเฟ้อ ลดลงต่อไปอีก

ทั่วโลกกระวนกระวายขณะที่ “เฟด” ชั่งใจในสัปดาห์นี้ว่าจะขึ้น “ดอกเบี้ย” หรือไม่
สแตนลีย์ ฟิชเชอร์ รองประธานธนาคารสหรัฐฯ (เฟด) ออกมากล่าวเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า เฟดคงไม่ต้องรอให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2% จึงค่อยขึ้นดอกเบี้ย

        เมื่อเดือนที่แล้ว สแตนลีย์ ฟิชเชอร์ รองประธานเฟดออกมาแถลงว่า เฟดจะไม่รอคอยให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มถึง 2.0%เสียก่อนจึงจะขึ้นดอกเบี้ย เขาให้เหตุผลว่า เพราะแรงกดดันด้านเงินฝืดที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้น่าจะเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น
     
       ทว่า คลื่นช็อกจากการดำดิ่งของตลาดหุ้นจีนและการลดค่าเงินหยวนของปักกิ่งในเดือนสิงหาคม กำลังเป็นตัวเพิ่มปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา
     
       “การตกฮวบของตลาดหุ้นจีนและปฏิกิริยาที่ติดตามมาจากทั่วโลก เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าสหรัฐฯยังคงอ่อนแอต่อภาวะช็อกนอกประเทศ” คิม เชส แห่ง บีบีวีเอ ให้ความเห็น
     
       กระนั้นเธอก็พูดแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยเสียทีในเดือนกันยายนนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะเป็นการส่งสัญญาณให้โลกรับทราบว่า เฟดมีความเชื่อมั่นในทิศทางที่เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังมุ่งหน้าไป
     
       อย่างไรก็ตาม แอนดริว เลวิน อาจารย์เศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลยดาร์ตเมาธ์ ผู้เคยทำงานอยู่ในเฟดมาเป็นเวลา 20 ปี กลับมองว่า ยังไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยเลย แม้กระทั่งข้อมูลการว่างงานที่หลายๆ ฝ่ายเห็นว่าเป็นไปในทางแข็งแกร่งแล้ว เขาก็กลับมองว่ายังไม่ได้สนับสนุนการปรับเพิ่มดอกเบี้ย
     
       เขาชี้ว่า ยังมีหลักฐานอยู่มากมายที่แสดงว่าตลาดแรงงานยังคงเฉื่อยเนือย เป็นต้นว่า มีชาวอเมริกัน 2.5 ล้านคนซึ่งหยุดความพยายามที่จะมองหางานทำแล้ว และมีผู้คนอีกจำนวนมากซึ่งถูกบังคับให้ต้องยอมทำงานพาร์ตไทม์
     
       ดังนั้น เขาจึงเห็นว่าการหันไปใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวดมากขึ้นในขระนี้ “จะเป็นความผิดพลาดเชิงนโยบายอย่างร้ายแรง”
     
       หากพิจารณาจากความเห็นที่พูดกันออกมาในระยะสองสามสัปดาห์มานี้ พวกเจ้าหน้าที่เฟดยังคงดูเหมือนจะมีความคิดแตกแยกกัน บ่งชี้ให้เห็นว่า เยลเลนจะต้องประสบความยากลำบากในการบรรลุฉันทามติ
     
       “สมาชิกแต่ละคนเข้ามาสู่ที่ประชุมคราวนี้ด้วยการมีทัศนะที่แตกต่างกัน และดังนั้นจึงไม่น่าที่เราจะได้เห็นการตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์” ไม่ว่าจะในทางหนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยหรือในทางคัดค้านก็ตามที เชสแห่งบีบีวีเอ สรุป