วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565
มรดกหนี้
มรดกหนี้
ในรายการ “คุยต้องรวย” ครั้งหนึ่ง เปิดสายพูดคุยตอบคำถามกับทางบ้าน สายสุดท้ายในวันนั้นเป็นเรื่องราวที่ชวนให้นึกถึงพ่อแม่หลายๆ คนที่เคยส่งคำถามเข้ามาหาผม รวมถึงพ่อแม่ของตัวผมเองด้วย
ชายคนหนึ่งอายุ 42 ปี ทำอาชีพอิสระ โทรเข้ามาปรึกษาเรื่องกู้ซื้อบ้าน แต่ไม่ได้กู้เอง วางแผนจะให้ลูกชายซึ่งปัจจุบันอายุ 19 ปี ทำอาชีพอิสระประเภทเดียวกัน กู้ซื้อในอีก 1 ปีข้างหน้า (บรรลุนิติภาวะพอดี)
สาเหตุที่ไม่สามารถกู้ได้เอง เพราะทั้งเขาและภรรยาเป็นหนี้เสีย ไม่ผ่อนชำระหนี้มาเป็นปีแล้ว จึงต้องรอให้ลูกชายเป็นคนกู้ซื้อบ้านให้
บ้านที่จะซื้อราคา 3.5 ล้าน ลูกชายมีรายได้เดือนละ 18,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่ากู้ซื้อไม่ได้ จึงวางแผนต่ออีกขั้น โดยจะทำหลักฐานรายได้ปลอม จากไอเดียคนใกล้ชิดว่าให้เปิดเป็นร้านค้าและรับรายได้จากเจ้าของไอเดีย ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการอยู่ (คนแนะนำจะใช้ช่องทางนี้สร้างรายจ่าย ลดภาษีกิจการตัวเอง)
เมื่อเห็นว่ามีความพยายามเกินเหตุที่จะกู้ซื้อบ้านให้ได้ ผมกับน้าเน็กจึงสอบถามว่า ทำไมต้องเสี่ยงทำผิดกฎหมาย เพื่อให้ได้บ้านที่เกินตัวเกินกำลังขนาดนี้
“ผมไม่มีมรดกอะไรให้ลูกเลย ก็เลยอยากให้ทิ้งบ้านเป็นมรดกไว้ให้ลูก”
คำตอบจากปลายสายชวนให้คิดอะไรไปได้หลายอย่าง
อันที่จริงการจะกู้ซื้อบ้านสักหนึ่งหลังในชื่อลูก แล้วร่วมด้วยช่วยกันผ่อนนั้น ไม่ใช่ปัญหา เพราะรายได้ระดับ 18,000 บาท รวมรายได้พ่อแม่ ก็พอจะหาซื้อบ้านในระดับที่ผ่อนไหวไปก่อนได้ (ราคาสัก 2 ล้าน น่าจะพอได้) แล้วค่อยๆ ขยับขยายกันไปนั้น ก็เป็นเรื่องที่หลายครอบครัวช่วยกันสร้างได้
แต่การซื้อในระดับที่รายได้สู้ไม่ไหว (บ้าน 3.5 ล้าน น่าจะส่งราว 20,000 บาท) แล้วต้องพยายามโหนสู้ วิ่งหารายได้กันขาขวิด นั่นไม่น่าจะใช่ทางเลือกที่ดีนัก
ไหนจะเป็นเรื่องการทำเอกสารปลอม และภาระหนี้เดิมที่เป็นหนี้เสียยังไม่ได้จัดการ ซึ่งวันหนึ่งจะต้องถูกฟ้อง ติดตาม และต้องหาเงินมาคืนเขาแน่ๆ นั่นอาจทำให้ความพยายามที่เกินพอดีสะดุดลงได้
คุยกันอยู่สักพัก ปลายสายก็ล้มเลิกความคิดที่จะกู้ซื้อบ้าน แต่ดูแล้วก็ยังรู้สึกผิดกับความคิดที่รู้สึกติดค้างในใจอยู่ดี
หวนกลับไปนึกถึงวันที่ครอบครัวผมล้มละลาย จำได้ว่าแม่ก็เคยพูดประโยคนี้ “แม่ขอโทษนะลูก สุดท้ายไม่เหลืออะไรเป็นสมบัติให้ลูกเลย”
วันนั้นผมตอบกลับไปว่า “แม่ไม่ต้องคิดมาก แค่ได้เกิดมา มีครอบครัวที่อบอุ่น มีการศึกษาที่ดี แค่นี้แม่ก็ให้เยอะพอแล้ว” (เอาจริงๆ วันนั้นแม่ก็ยังไม่ได้รู้สึกดีกับคำตอบของผมเท่าไหร่ แต่ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ นะ)
ในบางครั้งเราพูดถึงลูกที่ติดกับดักการเงิน เพราะความรู้สึกผิดต่อความกตัญญู แล้วก็ต้องกู้ทุกสิ่งอย่างเพื่อมาช่วยพ่อแม่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็มีพ่อแม่อีกหลายคน ที่รู้สึกผิดกับการให้ในสิ่งที่คิดว่าดีและสำคัญต่อลูกไม่ได้ และกลายเป็นพันธนาการความรู้สึกกับตัวเอง
ท้ายที่สุดแล้วในมุมการเงิน การสร้างภาระหนี้ 30 ปี แบบที่ไม่รู้ว่าจะผ่อนไหวหรือไม่ แล้วไปตายเอาดาบหน้า ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง และเป็นความเข้าใจผิดอย่างมากว่าเป็นการสร้างทรัพย์สิน ทั้งที่มันคือการสร้างภาระ 30 ปี ที่ไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้างในวันข้างหน้า
ส่วนในมุมความรู้สึกผิด ผมคิดว่าการได้คุยสื่อสารความรู้สึกนี้ อาจปลดล๊อคอะไรในใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่ได้เหมือนกัน เพราะเอาเข้าจริงลูกอาจไม่ได้ต้องการหรือคาดหวังจากพ่อแม่ ในสิ่งที่พ่อแม่คิดว่า “ดี” สำหรับเขาก็ได้
โดยส่วนตัวผมรู้สึกเห็นใจสายสุดท้ายนี้นะครับ และไม่รู้สึกว่าเขาผิดอะไรมากมาย แม้จะมีคอมเมนต์ต่อว่าเขาเยอะอยู่สักหน่อย บ้างไปว่าทำไมคิดไม่ได้ ทำไม่ไปสร้างภาระทิ้งให้ลูก บ้างก็ว่าอยากได้บ้านเองหรือเปล่าแล้วอ้างลูก
แต่ไม่รู้สิ! ผมจับอารมณ์ความรู้สึกจากน้ำเสียงของเขาได้พอสมควร ว่าเขารู้สึกผิดจริงๆ ที่รู้ว่าความหวังดีของเขาอาจส่งผลร้ายต่อลูกในอนาคต
พ่อแม่แทบทุกคนรักและอยากเห็นลูกมีสิ่งดีๆ ในชีวิต คิดถูกคิดผิดไปบ้างก็แก้ไขปรับปรุงกันไป แต่สำหรับความรู้สึกผิดในใจนั้น การพูดคุยกันกับลูกตรงๆ อาจช่วยให้เข้าใจและกันมากขึ้นได้
ถ้าที่ผ่านมาคุณให้ความรักกับลูกอย่างเต็มที่ อบรม เลี้ยงดู และทำให้เขาได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่เหมาะควร อย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว อยากบอกว่า “อย่ารู้สึกผิด” เลยครับ เพราะในมุมมองของลูก เขาอาจแอบกำลังภูมิใจในตัวฮีโร่ของชีวิตของเขาอยู่ก็ได้ (เหมือนที่ผมก็ภูมิใจในป๊ากับแม่ แม้ในวันที่เราไม่มีอะไรเหลือเลย)
คุยกันเยอะๆ ฟังกันเยอะๆ รักกันมากๆ กอดกันบ่อยๆ ครับ
เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวนะครับ
#TheMoneyCoachTH
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น