วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ขาดทุนก็ไม่ได้แปลว่าขาดทุน ถ้าเรารู้ว่าขาดทุนไปทำไม



คมคิด

เมื่อวานนี้เป็นอีกวันที่ผมโชคดี เพราะได้มีโอกาสฟังเสวนาจากคุณอนันต์ อัศวโภคิน

ชื่อเสียงเรียงนามของท่านผู้นี้คงไม่ต้องกล่าวอะไรมาก เพราะทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดนักธรุกิจของไทย และเป็นไอดอลของหลายๆคน

คุณอนันต์มาเล่าให้ฟังถึงแง่คิดในการทำธุรกิจต่างๆที่ท่านเจอมา เรียกว่าสาระจัดหนัก จัดเต็ม ทุกคนนี่จดกันมือเป็นระวิง

ท่านได้กรุณาเล่าเรื่องธุรกิจให้เล่าฟังหลายเรื่อง และเรื่องก็น่าสนใจทุกเรื่อง แต่วันนี้ผมอยากเอาเรื่องนึงมาแชร์ต่อครับ ผมรีบจดมากถ้ารายละเอียดตกหล่นหรือผิดพลาดต้องขออภัยด้วยนะครับ

มันคือเรื่องของ Terminal 21 ซึ่งเกิดมาจากแนวคิดของท่านที่ว่าในแนวรถไฟฟ้าแต่ห้างที่มีแต่ห้างที่ทำให้คนกลุ่ม B + ถึง A+ ทั้งนั้นไล่มาตั้งแต่ พารากอน Central World ชิดลม Embassy ถึง Emporium/ EmQuartier คุณอนันต์เลยอยากทำห้างที่จับลูกค้ากลุ่มอื่นบ้าง

เริ่มต้นทำ Terminal 21 ก็พยายามคิดว่าจะหาอะไรเป็น magnet มาดึงเข้าคนศูนย์การค้า

ถ้าจะเอาร้านค้าใหญ่ๆมาก็ลำบาก เพราะแถบนั้นมีห้างติดๆกันหลายห้าง ร้านก็ไม่อยากมาลงติดๆกัน คุณอนันต์ก็เลยคิดว่างั้นเอา magnet อื่นละกัน ตัวเลือกเลยมาตกที่อาหารเพราะยังไงคนก็ต้องกินอาหารทุกวัน ท่านเลยคิดว่างั้นทำอาหารให้คนที่มากินมีความสุขและสบายกระเป๋าละกัน

ก็เลยเกิด food court Terminal 21 ขึ้นมา

ตอนจะเปิดคุณอนันต์เดินดู food court ก็เห็นราคาที่ติดไว้ 50-60 ท่านก็เลยบอกลูกน้องว่าราคานี้ไม่ไหวแพงไปคนทั่วไปยังกินไม่ได้ ไปทำราคามาใหม่

ลูกน้องท่านก็กลับทำราคามาใหม่เป็น 40-45 บาทคุณอนันต์ก็บอกว่ายังแพงไปอีก และเสริมว่าเอางี้ละกัน พวกคุณไปแก้ราคามา ถ้าคุณทำแล้วมีกำไร ผมตัดโบนัสคุณ ถ้าทำแล้วขาดทุนจะมีโบนัสให้

เคยมีเจ้านายที่ไหนสั่งแบบนี้ไหมครับ ผมฟังแล้วถึงกับเหวอไป

คราวนี้ราคากลับมาใหม่ ราดหน้าเหลือ 28 บาท ข้าวมันไก่เหลือ 30 บาท ทุกวันนี้ราคาพวกนี้ยังปิดทับป้ายราคาที่แพงกว่าอยู่เลย ถ้าใครสังเกตจะมองเห็น

ที่ทำราคาได้ถูกขนาดนี้เพราะว่าที่นีาร้านไม่มีค่าเช่า

ทุกอย่างออกแบบมาเพื่อ magnet อันนี้จริงๆ แม้แต่บันไดเลื่อนขาขึ้นก็ยังออกแบบมาให้คนเดินไป food court ได้ง่ายๆเร็วๆ ส่วนขาลงค่อยเดินดูร้านค้า

ตอนเปิด food court ใหม่ๆ คุณอนันต์ไปนั่งดูงานด้วยตัวเอง ท่านสังเกตว่าทำไมบ้างร้านปิดเร็ว บางทีทุ่มนึงก็ปิดแล้ว ทั้งๆที่ศูนย์การค้าปิดสี่ทุ่ม

ท่านก็เลยไปคุยกับเจ้าของร้าน ก็ปรากฏว่าที่ต้องปิดเร็วเพราะของหมด เนื่องจากสาขานี้ขายดีกว่าสาขาอื่นถึง 4 เท่า และไม่สามารถซื้อของมาเพิ่มได้มากกว่านี้เพราะหมุนเงินไม่ทัน ที่หมุนเงินไม่ทันเพราะ food court จ่ายเงินร้านค้าทุก 30 วัน

คุณอนันต์ได้ยินแบบนี้ก็เลยสั่งให้ลดเวลาจ่ายเงินเป็นจ่ายทุก 15 วันแทน

ปัญหานี้ก็จบไป

ร้านก็เปิดได้จนถึงเกือบๆสี่ทุ่ม

และ food court เป็น magnet ที่สำคัญของ Terminal 21 จริงๆคนเต็มตลอดทั้งวัน และคนมากินส่วนนึงก็ต้องลงมาซื้อของด้วย

ไม่ใช่แค่กับคนไทย ที่นี่ยังเป็นที่นิยมของชาวต่างด้วย มีรถทัวร์มาลงเป็นประจำ และผมยังทราบมาอีกด้วยว่าในเวบไซด์ท่องเที่ยวดังๆหลายแห่งให้ที่นี่เป็นแหล่งของกินที่คุ้มค่าสุดๆ เราจึงเห็นชาวต่างแวะมาเยี่ยมเยียนที่นี่จนชินตา

และบอกต่อกันไปแบบปากต่อปากด้วย

ทั้งหมดที่ทำมานี้คุณอนันต์บอกว่า food court ขาดทุนอยู่ปีละ 20 ล้าน

ทุกท่านอาจจะงง ขาดทุน 20 ล้านจะเป็นเรื่องที่ดีได้อย่างไร

มันเป็นเรื่องที่ดีมากเลยครับถ้าเรามองว่ามันเป็นงบประมาณการตลาดของศูนย์การค้าแห่งนี้

เพราะสำหรับงบการตลาด 20 ล้านนี่ทำโฆษณาอะไรแทบไม่ได้เลยครับ แถมทำไปแป๊ปเดียวคนก็ลืม

สู้ทำแบบนี้เจ๋งกว่าเยอะ

กลยุทธ์นี้จึงเรียกได้ว่าคมกริบ มองเห็นอะไรขาดสุดๆ

เรื่องนี้สอนให้ผมรู้ว่า คนที่เก่งสุดๆไม่เคยมองอะไรชั้นเดียว

มองหลายชั้นเสมอ

บางทีกำไรไม่ได้แปลว่ากำไร

ขาดทุนก็ไม่ได้แปลว่าขาดทุน ถ้าเรารู้ว่าขาดทุนไปทำไม


**เอาบทความไปใช่ต่อได้ครับ แต่ช่วยให้เครติดคนเขียนนิดนึง**
เครดิตภาพและบทความ  https://www.facebook.com/marketingeverythingbook/photos/a.215431685328083.1073741829.215052905365961/479453995592516/?type=3&theater

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น